Planning

ขั้นตอนในการเตรียมตัวก่อนปั่นทัวรริ่ง ภาค 2 : เตรียมตัว

เตรียมตัว

ถ้าใจพร้อม ต่อมาก็เตรียมตัว หลายคนอาจสงสัยว่า โห..จะปั่นจักรยานซะขนาดนี้ มันน่าที่จะ ต้องฟิตซ้อมร่างกายกันน่าดู ซึ่งถ้าพูดถึงตามหลักการแล้วเนียะ เราก็ควรที่จะฟิตร่างกายให้อย่างน้อยมันชินกันการออกกำลังกายในระดับที่คุณไม่เคยทำมาก่อน แต่ก็ไม่ต้องถึงกับเข้าฟิตเนสนะ ถ้าคุณจะฟิตร่างกายเราแนะนำให้ไปปั่นจักรยาน ระยะทางใกล้ๆ สัก 20-25 กิโล ไม่ก็ลองเดิน ระยะทางประมาณ 8-10 กิโล ต่อวันก็น่าจะเพียงพอ ไม่ใช่แค่ฝึกซ้อมร่างกาย แต่คุณกำลังฝึกซ้อมจิตใจ สภาพร่างกายของคุณด้วย ทำไมถึงไม่แนะนำฟิตเนส ง่ายๆเลย เวลาปั่นจักรยานจริงๆแล้ว คนเราก็ปั่นกันตอนกลางวันใช่มั้ย แถมประเทศไทยรู้ๆอยู่ ร้อนยิ่งกว่าร่ม เพราะฉะนั้น ฝึกปั่นในห้องแอร์เรียกว่าไม่ช่วยอะไรเลย อาจได้กล้ามเนื้อ แต่เรื่องการเผาผลาญ ก็ไม่เหมือนกัน

ปั่นจักรยานทัวรริ่งในชีวิตจริง ร่างกายต้องปรับตัวให้ทันกับการเจอแดดเปรี้ยงๆ 2-3 ชั่วโมงเป็นอย่างน้อย ต่อวัน นี่ยังไม่นับว่าปั่นอยู่ดีๆฝนตกนะ อากาศเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา แน็ตเคยเจอ เช้าๆฝนตก อากาศอย่างเย็น สายๆร้อนโคด ไม่เป็นไข้มานี่ก็นับว่าเก่งหละ 555 แต่ไม่ต้องห่วงส่วนใหญ่มักจะเจอร้อน ถึงร้อนโคดอย่างเดียว

หลายคนเคยถาม ปั่นนานๆ ไม่เบื่อหรอ การปั่นจักรยานนานๆ มันเหมือนนั่งสมาธินะ จิตใจจะสงบ จะนิ่งมากขึ้น มองอะไรต่างๆในอีกมุมมองนึง (แต่ถ้าปั่นในตัวเมือง หรือ กรุงเทพ อาจไม่รู้สึกแบบนี้นะ) การปั่นจักรยานแบบนี้ทำให้แน็ตมอง “ปัญหา” ต่างๆ เปรียบเหมือน ภูเขา หรือ เนิน ที่ต้องปั่นผ่าน บางครั้งภูเขาหรือเนินต่างๆ มันหนักหนาที่จะปั่นข้ามไป บางครั้งท้อที่จะปั่นข้าม บางครั้งคิดว่าไม่ไหวแล้ว ปั่นต่อไม่ไหวแล้ว แต่พอถึงยอด ก็จะรู้เองว่า ทุกเขา ทุกเนินมันมีจุดสูงสุดของมัน ถ้าผ่านไปได้แล้ว ที่เหลือก็คือทางลง มันก็เหมือน “ปัญหา” ต่างๆ ที่แก้แล้วแก้อีก ก็ไม่ได้ พยายามแล้ว ก็ไม่ได้ จนเริ่มท้อ ก็อยากจะให้จำไว้ว่า ทุกปัญหาอะมันมีทางออกเสมอหละ จะทางสั้นทางยาว ทางชันทางราบ ทางตรงทางเลี้ยว ยังไงมันก็มีทางออก หรือบางครั้ง บางเขาบางเนิน มองมาไกลๆ โห…ลูกเบ้อเริ่ม มันดูใหญ่ชวนท้อให้ปั่นต่อ แต่พอเอาเข้าจริงแล้ว มันกลับไม่ยากอย่างที่คิด ก็เหมือนกับ “ปัญหา” บางครั้งมาดูจะใหญ่ ยากที่จะแก้ ก็อย่าไปท้อ อย่าไปถอย เดินหน้าสู้มัน แก้ไขมันไป ยอมรับนะว่าไม่ใช่ทุก “ปัญหา” หรอกที่มันจะลวงตาแบบนี้เสมอ แต่ก็มีนะ ที่พอลองแก้ดูแล้ว เฮ้ย มันก็ไม่ยากอย่างนั้นนี่หว่า

เมื่อมาถึงจุดๆนึง ปั่นนานเกิน ก็จะเกิดอาการคิดอะไรไม่ออก ไม่ก็ยิ่งคิดยิ่งฟุ้งซ่านชักจะไปกันใหญ่ โดยเฉพาะคนที่ต้องปั่นคนเดียว ถามมาหลายคนแล้ว นักปั่นทัวรริ่งทางไกลแบบโซโล่ ส่วนใหญ่มักจะจบด้วยการพูดกับตัวเอง 555 เหมือนคนบ้าเลยเนอะ เราขอแนะนำให้เอาเสียงเพลงเข้าสู้ ไม่ว่าจะเป็นไอพอด วิทยุ หรืออะไรก็ตามที่สามารถ บันเทิงจิตใจคุณได้ เราแนะนำ แต่อย่าเอาอะไรที่เล่นวีดีโอได้นะ เคยลองมาแล้ว อันตรายน่าดู เหอเหอ เอาแค่เสียงเพลงพอ เพลงอะไรก็ได้ แนะนำเลย เอาเข้าหูไปหนึ่งข้างจบ ห้ามสองนะ ห้ามใส่ด้านขวาด้วย ให้ใส่ด้านซ้ายอย่างเดียว อย่างน้้อยคุณยังเปิดหูขวาไว้ฟังเสียงรถ เสียงถนน บางคนใจดีหน่อย ติดลำโพงเลย 555 พวกแน็ตติดสำโพงเลยนะ แบบที่ใช้กับคอม เสียบ Mini SD Card แล้วก็เปืดเพลงฟัง ตกเย็นก็ชาร์จเบตเป็นอันจบ ใครไม่เคยฟังเพลงระหว่างปั่น เราแนะนำเลย มันจะทำให้การเดินทางวันนั้นสั้นลงไปเยอะเลยทีเดียว

ทำไมถึงแนะนำให้ฝึกซ้อม 20-25 กิโลเมตรต่อวัน เพราะเวลาปั่นจริงๆ เราแนะนำให้คุณปั่นหนึ่งชั่วโมงแล้วหยุดพักสัก 5 นาที แล้วค่อยปั่นต่ออีก ทำแบบนี้แล้วร่างกายจะไม่ล้ามาก เคยอัดยาวมา 2 ชั่วโมงไม่พักเลย อุแม่เจ้า เหนื่อยมาก บางคนบอก โห…ชั่วโมงนึงก็ยังปั่นไม่ถึง 20-25 กิโลให้ทำไงอะ ง่ายๆ ยึดหลักเวลาไว้ ระยะทางช่างมันเถอะ คุณจะปั่นช้าปั่นเร็วขนาดไหน คุณก็อย่าลืมหละว่า นี่เป็นการเดินทางท่องเที่ยวของคุณ ไม่ได้ไปแข่ง ทัวร์ เดอ ฟรองซ์ กับใคร

บางคนถามแล้วนี่ต้องฝึกปั่นขึ้นเขาขึ้นเนินด้วยมั้ย ก็จะบอกว่า ถ้าแถวบ้านคุณมีให้ฝึกก็ลองฝึกไปเถอะ ไม่เสียหายอะไร ถ้าปั่นขึ้นเนินได้ ทางเรียบก็ไม่ต้องห่วงแล้ว ตอนที่พวกแน็ตปั่นลงมาจากแม่ฮ่องสอน จะบอกว่าระยะทางเรียบที่เหลือ ปั่นง่ายมาก แต่ถ้าแถวบ้านไม่มีเขาให้ฝึกก็ไม่ต้องห่วงหรอก ปั่นทางเรียบไป ถ้าวันทัวรริ่งเจอเนิน เจอเขามา เราก็แนะนำว่าให้เปลี่ยนลงเกียร์ต่ำสุด (เกียร์ที่ปั่นง่ายที่สุด) แล้วก็ค่อยๆขึ้นไป ค่อยๆจริงๆนะ อย่าไปอัดขึ้นละ ตายอย่างเดียวเลยแบบนั้น ค่อยๆเป็นค่อยๆไป ค่อยๆขึ้น แล้วอย่ามัวแตปั่นอย่างเดียวละ มองวิวไปด้วย เพราะความช้าเนียะหละที่่จะทำให้คุณมองเห็นอีกหนึ่งวิวที่แตกต่างไป

จะว่าเตรียมตัว แต่ก็จบออกมาคล้ายๆเตรียมจิตใจและสภาพร่างกายให้พร้อมกับสภาพอากาศมากกว่า เรื่องกล้ามเนื้ออะไม่ต้องห่วงหรอก ร่างกายมันจะพัฒนากล้ามเนื้อของมันเอง ปั่นเหนื่อยก็พัก หายเหนื่อยแล้วก็ปั่นต่อ ปั่นสัก 3 วัน พัก1 วัน ให้ร่างกายได้พักผ่อนเสริมสร้างกล้ามเนื้อ วันๆไม่รู้จะกินอะไร ก็แนะนำเน้นข้าวเน้นเนื้อ ข้าวให้คาร์โบ เพิ่มพลังงาน เนื้อให้โปรตีน เสริมสร้างซ่อมแซมกล้ามเนื้อ อยากลดน้ำหนักดีๆ เช้าๆตื่นมาอย่าเพิ่งกิน ดื่มน้ำทานกาแฟไป ปั่นไปสักชั่วโมงค่อยหาข้าวเช้าทาน ช่วงที่ปั่นชั่วโมงแรกนั้นร่างกายจะดูดเอาพลังงานที่สะสมเป็นไขมันไปใช้แทน ถ้ากินก่อนป่ั่นร่างกายก็จะดูดเอาสิ่งที่เราเพื่งกินไปใช้แทน แล้วก็จะทิ้งไขมันส่วนเกินไว้ให้เราดูเล่นแทน

พูดได้คำเดียวว่าเตรียมตัวน่าจะเป็นส่วนที่สำคัญน้อยที่สุดแล้วอะ มันเหมือนร่างกายมันจะจัดการของมันเอง โอ๊ะ…แต่มีอยู่หนึ่งส่วนที่ขอแนะนำแบบรุนแรงเลยที่ต้องทำการบริหาร เตรียมพร้อมไว้ก่อนล่วงหน้าเลย คือ ก้น 555 ดูเหมือนฮา แต่เรื่องจริงนะ ถ้าคุณปั่นจักรยานเป็นประจำทุกวันอยู่แล้วอันนี้ก็จะทรมานน้อยหน่อย อย่างน้อยก้นก็คงจะเปลี่ยนรูปร่างให้เข้ากับเก้าอี้ได้แล้วหละ แต่สำหรับคนที่ไม่ได้ปั่นแบบจริงจัง ปั่นแบบ 8-10 กิโลต่อวัน อันนี้ก็ขอบอกว่า เตรียมยาแก้ปวดไปเยอะๆนะ เพราะก้นคุณจะระบมเป็นอย่างแรก ช่วงปั่นวันแรก ยังไม่รู้สึกอะไร วันที่สองเริ่มเจ็บนิดๆ หลังจากนั้นเตรียมตัวเลย นรกมันจะมา เพราะไม่ว่าจะวางก้นไว้ส่วนไหนของเบาะจักรยานมันก็จะปวด แล้วถ้าดูที่ก้นดี จะเห็นว่าเป็นรอยช้ำเป็นที่เรียบร้อย 555 แต่ไม่ต้องห่วงปั่นไปสักพักมันก็จะหายไปเอง (ก็ไม่แน่ใจว่าหายไปเอง หรือว่ามันชาเกินจะรู้สึก) แนะนำเบาะรองนั่ง เลือกอันที่ใหญ่หน่อย จะได้นั่งสบาย ไม่ได้พูดให้กลัวนะ แต่พูดให้เตรียมทำใจรับมัน เวลามันมาจะได้ไม่ตกใจ 555

Tags: , ,

No comments yet.

Add your response